Happy Three Friends
Would you like to react to this message? Create an account in a few clicks or log in to continue.

Go down
theerachetc
theerachetc
Admin
Admin
จำนวนข้อความ : 234
Join date : 05/11/2010
Age : 28

การสังคายนาพระไตรปิฎก Empty การสังคายนาพระไตรปิฎก

Tue Dec 14, 2010 6:31 pm
การสังคายนาพระไตรปิฎก Logo_naknow

รอบรู้ พระพุทธศาสนา

ประวัติโดยย่อ การสังคายนาพระไตรปิฎก

ปฐมเหตุความคิดที่จะให้มีการสังคายนาพระธรรมวินัยนั้น ได้มีมาแล้วตั้งแต่ครั้งพุทธกาล
โดยพระพุทธองค์ได้ประทานพระพุทธโอวาทแนะนำไว้ กล่าวคือ

เมื่อนิครนถนาฏบุตร ผู้เป็นอาจารย์เจ้าลัทธิเชนสิ้นชีพ พวกสาวกของเจ้าลัทธินี้ได้เกิดแตกสามัคคีกัน
ครั้งนั้น พระจุนทเถระผู้เป็นน้องชายของพระสารีบุตรเถระได้ทราบเรื่องนั้นแล้ว
มีความห่วงใยในพระพุทธศาสนา เกรงเหตุการณ์เช่นนั้นจะเกิดขึ้นแก่พระพุทธศาสนา
จึงไปพบพระอานนท์เถระเล่าความนั้นให้ฟัง

พระอานนท์เถระจึงได้ชวนเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระจุนทเถระกราบทูลเล่าเรื่องนั้นถวายให้ทรงทราบ
พระพุทธองค์ได้ประทานพระพุทธโอวาทเป็นอันมากแก่พระจุนทเถระ
ที่สำคัญข้อหนึ่งก็คือ พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า
ที่สาวกของนิครนถนาฏบุตรแตกสามัคคีกันนั้น เพราะคำสอนของเจ้าลัทธินั้นไม่สมบูรณ์และมีความสับสน
ทั้งพวกสาวกก็ไม่ปฏิบัติตามคำสอน
แล้วทรงแนะนำให้รวบรวมพระพุทธวจนะ ให้ทำการสังคายนาไว้เพื่อความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนาสืบไป

พระสารีบุตรเถระก็ได้แนะนำพระภิกษุสงฆ์ให้ช่วยกันรวบรวมพระพุทธวจนะ หรือทำการสังคายนาพระธรรมวินัยไว้เช่นเดียวกัน
กล่าวคือ เมื่อนิครนถนาฏบุตรสิ้นชีพ และพวกสาวกเกิดแตกความสามัคคีกันดังกล่าวแล้วนั้น
ตอนค่ำวันหนึ่ง พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมโปรดภิกษุสงฆ์ที่เข้าเฝ้า
จบแล้วทรงเห็นว่าภิกษุสงฆ์ยังประสงค์จะฟังธรรมต่อไปอีก จึงทรงมอบหมายให้พระสารีบุตรแสดงธรรมแทน
ครั้งนั้น พระสารีบุตรเถระได้แสดงธรรมแก่ภิกษุสงฆ์ ได้แนะนำให้ช่วยกันรวบรวมร้อยกรองพระธรรมวินัยไว้

โดยแสดงตัวอย่างการจัดหมวดหมู่ธรรมะเป็นหมวดๆ
ตั้งแต่หมวด ๑ ถึงหมวด ๑๐ ว่าธรรมะอะไรบ้างอยู่ในหมวดนั้นๆ
หัวข้อเรื่องที่พระสารีบุตรเถระแสดงในครั้งนั้น เรียกว่า สังคิติสูตร อันแปลว่า สูตรว่าด้วยการสังคายนาพระธรรมวินัย
ซึ่งแนวคิดและข้อแนะนำรับรองว่าถูกต้อง

ตามที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า การจัดสังคายนาพระธรรมวินัย หรือการสังคายนาพระไตรปิฎกนั้น
เป็นเรื่องสำคัญยิ่งต่อความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา
พระสงฆ์ผู้เป็นพุทธสาวกที่สำคัญรูปหนึ่ง คือพระจุนทเถระ มีความห่วงใยต่ออนาคตแห่งพระพุทธศาสนา
พระเถระรูปนี้หวั่นเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่เป็นภัยต่อพระพุทธศาสนาในอนาคต
จึงได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ และกราบทูลเรื่องราวที่เกิดขึ้นในลัทธิเชน
เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกันขึ้นในพระพุทธศาสนา ดังกล่าวแล้ว

ด้วยเหตุดังกล่าวมา พระสงฆ์พุทธสาวกผู้เป็นศาสนทายาท
เมื่อปรารภเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งจะเป็นภัยต่อพระพุทธศาสนา
ก็ได้พร้อมกันปกป้องพระพุทธศาสนาไว้ แก้ไขให้พ้นภัยตลอดมา
วิธีการปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนาที่สำคัญวิธีหนึ่งก็คือ
การสังคายนาพระธรรมวินัย หรือการสังคายนาพระไตรปิฎก
ซึ่งได้ถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมาโดยลำดับตามควรแก่เหตุการณ์และกาลเวลา

การสังคายนา ครั้งที่ ๑
มูลเหตุ : เมื่อพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานได้ ๗ วัน พระมหากัสสปเถระอยู่ที่เมืองปาวา
ยังไม่ทราบว่าพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพาน จึงพาพระสงฆ์จำนวน ๕๐๐ รูป
เดินทางออกจากเมืองปาวาด้วยประสงค์จะไปเฝ้าพระพุทธองค์ที่เมืองกุสินารา
ในระหว่างเดินทางนั้นเอง ก็ได้ทราบข่าวการเสด็จปรินิพพานของพระพุทธองค์จากอาชีวก(นักบวชนิกายหนึ่ง) คนหนึ่ง
ซึ่งเดินทางมาจากเมืองกุสินารา
พระสงฆ์ทั้งมวลซึ่งมีพระมหากัสสปเถระเป็นหัวหน้า
เมื่อได้ทราบข่าวนั้นแล้ว ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ต่างก็มีความสลดใจ ผู้ที่เป็นปุถุชนอยู่ก็เศร้าโศกเสียใจ
ร้องไห้คร่ำครวญ รำพึงรำพันกันไปต่างๆนานา แต่พระภิกษุสุภัททะมิได้เป็นเช่นนั้น
และได้ห้ามพระภิกษุเหล่านั้นมิให้เสียใจ มิให้ร้องไห้
โดยกล่าวชี้นำว่า ที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จปรินิพพานนั้นเป็นการดีแล้ว
ต่อนี้ไปจะทำอะไรได้ตามใจ ไม่มีใครคอยมาชี้ว่าผิดนี่ ถูกนี่ ควรนี่ ไม่ควรนี่ ต่อไปอีก

พระมหากัสสปเถระได้ฟังคำกล่าวจ้วงจาบเช่นนั้นแล้ว เกิดความสลดใจ
ภายหลังจากการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระเสร็จสิ้นแล้ว
ได้มีการประชุมสงฆ์ พระมหากัสสปเถระซึ่งเป็นผู้มีอายุพรรษามากกว่าพระสงฆ์ทุกรูป
ได้รับเลือกให้เป็นประธานสงฆ์ มีฐานะเป็นสังฆปริณายก (ผู้นำคณะสงฆ์)
บริหารการคณะสงฆ์ตามพระธรรมวินัย

ท่านจึงได้นำเรื่องที่ภิกษุสุภัททะกล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัยนั้นเสนอต่อที่ประชุมสงฆ์
ชวนให้ทำการสังคายนาพระธรรมวินัย และได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม

ต่อจากนั้นมา ๓ เดือน ก็ได้มีการประชุมทำสังคายนาครั้งที่ ๑

สถานที่ :
ถ้ำสัตบรรณคูหา ข้างเขาเวภารบรรพต ใกล้กรุงราชคฤห์ ชมพูทวีป

องค์อุปถัมภ์ : พระเจ้าอชาตศัตรู

การจัดการ :
พระมหากัสสปเถระได้รับเลือกเป็นประธาน และเป็นผู้ซักถามพระธรรมวินัย
พระอุบาลีเถระเป็นผู้ตอบข้อซักถามทางพระวินัย พระอานนท์เถระเป็นผู้ตอบข้อซักถามทางพระธรรม
มีพระอรหันต์เข้าประชุมเป็นสังคีติการกสงฆ์
(สงฆ์ผู้เป็นคณะกรรมการทำสังคายนา) จำนวน ๕๐๐ รูป

ระยะเวลา : ๗ เดือน จึงสำเร็จ


การสังคายนา ครั้งที่ ๒

ในพ.ศ.๑๐๐
มูลเหตุ :
พระยสะกากัณฑกบุตรได้ปรารภถึงข้อปฏิบัติย่อหย่อน ๑๐ ประการ
ของพวกภิกษุวัชชีบุตร เช่นถือว่าเก็บเกลือไว้ในเขนง (เขาสัตว์)
เพื่อเอาไว้ฉันได้ ตะวันชายเกินเที่ยงไปแล้ว ๒ นิ้วฉันอาหารได้ รับเงินทองไว้ใช้ได้ เป็นต้น
พระยสะกากัณฑกบุตรเห็นว่า ข้อปฏิบัติย่อหย่อนดังกล่าวนี้ขัดกับพระวินัยพุทธบัญญัติ
จึงได้ชักชวนพระเถระผู้ใหญ่ประชุมพิจารณาวินิจฉัย
ทำการสังคายนาพระธรรมวินัยเพื่อความมั่นคงพระพุทธศาสนาสืบไป

สถานที่ : วาลิการาม เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ชมพูทวีป

องค์อุปถัมภ์ : พระเจ้ากาลาโศกราช

การจัดการ :
พระมหาเถระชื่อยสะกากัณฑกบุตรเป็นประธาน พระเรวตเถระเป็นผู้ซักถามพระธรรมวินัย
พระสัพพกามีเถระเป็นผู้ตอบข้อซักถาม มีพระอรหันต์เข้าประชุมเป็นสังคีติการกสงฆ์จำนวน 700 รูป

ระยะเวลา : ๘ เดือน จึงสำเร็จ

การสังคายนา ครั้งที่ ๓

ในพ.ศ.๒๓๕
มูลเหตุ :
พวกเดียรถีย์หรือพวกนักบวชในศาสนาอื่นมาปลอมบวชในพระพุทธศาสนา ด้วยเห็นแก่ลาภสักการะ
และเพื่อบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา ได้แสดงลัทธิและความเห็นของตนว่า "เป็นพระพุทธศาสนา
เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า"

พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระได้ขอความอุปถัมภ์จากพระเจ้าอโศกมหาราชให้มีการสอบสวน
สะสาง กำจัดพวกเดียรถีย์ปลอมบวชประมาณ ๖๐,๐๐๐ รูป
แล้วให้สละสมณเพศออกจากพระพุทธศาสนาได้สำเร็จ

สถานที่ : อโศการาม กรุงปาตลีบุตร ชมพูทวีป

องค์อุปถัมภ์ : พระเจ้าอโศกมหาราช

การจัดการ :พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธาน พระอรหันต์เข้าประชุมเป็นสังคีติการกสงฆ์จำนวน ๑,๐๐๐ รูป

ระยะเวลา : ๙ เดือน จึงสำเร็จ

การสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งนี้ คงมีการซักถามพระธรรมวินัยและตอบข้อซักถามเช่นเดียวกับการสังคายนาครั้งก่อน
แต่ไม่ปรากฏรายละเอียดว่า พระเถระรูปใดทำหน้าที่ซักถาม รูปใดทำหน้าที่ตอบข้อซักถาม
แต่ปรากฏว่า พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระได้เสนอคำถาม ๕๐๐ ข้อเพิ่มเข้าในคัมภีร์กถาวัตถุ
ซึ่งเป็นคัมภีร์ในพระอภิธรรมปิฎก เป็นการขยายความคัมภีร์นั้นให้พิสดารออกไปอีก
ที่ประชุมสงฆ์ได้รับรองเป็นคำอธิบายที่ถูกต้องตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา
ผลการสังคายนาครั้งนี้ นอกจากจะได้กำจัดพวกเดียรถีย์ปลอมบวช
ให้ออกจากพระพุทธศาสนาแล้ว ยังได้สอบทานพระธรรมวินัยให้ถูกต้อง
และได้ตอบคำถาม ๕๐๐ ข้อ คำตอบ ๕๐๐ ข้อ เพิ่มเข้าในคัมภีร์กถาวัตถุด้วย

เมื่อเสร็จการสังคายนาแล้วได้มีการส่งสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนต่างๆ
ทั้งในและต่างประเทศรวม ๙ สายด้วยกัน และส่งไปสายละ ๕ รูป
เพื่อจะได้ให้การอุปสมบทแก่ผู้เลื่อมใสได้ถูกต้องตามพระวินัย

สายที่ ๑ พระมัชฌันติกเถระ พร้อมด้วยคณะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ แคว้นกัศมีระและแคว้นคันธาระ

สายที่ ๒ พระมหาเทวเถระ พร้อมด้วยคณะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ แคว้นมหิสมณฑล และดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำโคธาวารี

สายที่ ๓ พระรักขิตเถระ พร้อมด้วยคณะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ วนวาลีประเทศ

สายที่ ๔ พระธรรมรักขิตเถระ หรือพระโยนกธรรมรักขิตเถระ
(ซึ่งเข้าใจกันว่าเป็นฝรั่งคนแรกในชาติกรีกที่ได้เข้าบวชในพระพุทธศาสนา)
พร้อมด้วยคณะ ได้ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ อปรันตกชนบท

สายที่ ๕ พระมหาธรรมรักขิตเถระ พร้อมด้วยคณะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ แคว้นมหาราษฎร์

สายที่ ๖ พระมหารักขิตเถระ พร้อมด้วยคณะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ โยนกประเทศ

สายที่ ๗ พระมัชฌิมเถระ พร้อมด้วยคณะ คือพระกัสสปโคตรเถระ พระมูลกเทวเถระ พระทุนทภิสสระเถระ และพระเทวเถระ
ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ ดินแดนแถบภูเขาหิมาลัย

สายที่ ๘ พระโสณเถระ และพระอุตตรเถระ พร้อมด้วยคณะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ ดินแดนสุวรรณภูมิ
สายที่ ๙ พระมหินทเถระ (โอรสพระเจ้าอโศกมหาราช) พร้อมด้วยคณะ คือพระอริฏฐเถระ พระอุทริยเถระ
พระสัมพลเถระ และพระหัททสารเถระ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ ลังกาทวีป
ในรัชสมัยของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ กษัตริย์แห่งลังกาทวีป


แก้ไขล่าสุดโดย theerachetc เมื่อ Sun Jan 09, 2011 5:54 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
theerachetc
theerachetc
Admin
Admin
จำนวนข้อความ : 234
Join date : 05/11/2010
Age : 28

การสังคายนาพระไตรปิฎก Empty Re: การสังคายนาพระไตรปิฎก

Tue Dec 14, 2010 6:31 pm
การสังคายนา ครั้งที่ ๔

ในพ.ศ.๒๓๘ หลังจากพระมหินทเถระและคณะออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในลังกาทวีปประมาณ ๓ ปี

มูลเหตุ :
พระมหินทเถระประสงค์จะให้พระพุทธศาสนาได้หยั่งรากมั่นคงในลังกาทวีป
เป็นการวางรากฐานให้พระสงฆ์ชาวลังกาท่องจำพระพุทธวจนะตามระบบการศึกษาพระปริยัติธรรมในเวลานั้น

สถานที่ : ถูปาราม เมืองอนุราธปุระ ในลังกาทวีป

องค์อุปถัมภ์ : พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ กษัตริย์แห่งลังกาทวีป

การจัดการ :
พระมหินทเถระเป็นประธาน พระอริฏฐเถระเป็นผู้สวดทบทวนหรือตอบข้อซักถามด้านพระวินัย
มีพระเถระรูปอื่นๆสวดทบทวนพระธรรม มีพระอรหันต์เข้าประชุมเป็นจำนวน ๓๘ รูป
พระเถระผู้จดจำพระไตรปิฎกอีกจำนวน ๙๖๒ รูป

ระยะเวลา : ๑๐ เดือน จึงสำเร็จ


การสังคายนา ครั้งที่ ๕
ในพ.ศ.๔๓๓

มูลเหตุ :ทางการคณะสงฆ์ชาวลังกาและทางราชการบ้านเมืองเห็นว่า พระธรรมวินัยหรือพระพุทธวจนะที่ได้สังคายนาไว้นั้น
มีความสำคัญมาก นับเป็นรากแก้วของพระพุทธศาสนา หากจะพิทักษ์รักษาธรรมวินัยให้ดำรงอยู่สืบไป
ด้วยวิธีการท่องจำดังที่เคยถือปฏิบัติกันมา ก็อาจมีข้อวิปริตผิดพลาดได้ง่าย
เพราะความจำของผู้บวชเรียนเสื่อมถอยลง
ในการสังคายนาครั้งนี้ จึงได้ตกลงจารึกพระธรรมวินัยหรือพระพุทธวจนะ เป็นภาษามคธอักษรบาลีลงในใบลาน พร้อมทั้งคำอธิบายพระไตรปิฎกที่เรียกว่า อรรถกถา ซึ่งเดิมเป็นภาษามคธอักษรบาลี
นับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการจารึกพระธรรมวินัยเป็นภาษามคธอักษรบาลีเป็นหลักฐาน
ไว้เป็นลายลักษณ์อักษร พระไตรปิฎกลายลักษณ์อักษร จึงมีขึ้นเป็นฉบับแรกในพระพุทธศาสนา
นับเป็นการสังคายนาครั้งที่ ๒ ในลังกาทวีป

สถานที่ : อาโลกเลนสถาน ณ มตเลชนบท ในลังกาทวีป

องค์อุปถัมภ์ : พระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย

การจัดการ :
พระรักขิตมหาเถระเป็นประธานและเป็นผู้ซักถามพระธรรมวินัย พระติสสเถระเป็นผู้ตอบข้อซักถาม
มีพระสงฆ์ผู้เป็นองค์พระอรหันต์ และพระสงฆ์ปุถุชนเข้าประชุมเป็นสังคีติการกสงฆ์ จำนวนกว่า ๑,๐๐๐ รูป

ระยะเวลา : ๑ ปี จึงสำเร็จ


การสังคายนา ครั้งที่ ๖

ในพ.ศ.๙๕๖ ได้มีการทำสังคายนาพระธรรมวินัย โดยการแปลและเรียบเรียงอรรถกถา (คัมภีร์อธิบายพระไตรปิฎก)

มูลเหตุ : พระพุทธโฆสเถระ (หรือที่ไทยเรานิยมเรียกว่า พระพุทธโฆษาจารย์)
ซึ่งเป็นพระมหาเถระชาวชมพูทวีป ผู้เปรื่องปราดมีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก
และนับเป็นปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาและภาษาบาลี เห็นว่าคัมภีร์อรรถกถาแห่งพระไตรปิฎกนั้นมีสมบูรณ์ บริบูรณ์
เป็นภาษาสิงหล อยู่ในลังกาทวีป
ท่านจึงเดินทางไปลังกาทวีป ขอความอุปถัมภ์จากพระเจ้ามหานามเพื่อแปลและเรียบเรียงคัมภีร์อรรถกถา
จากภาษาสิงหลเป็นภาษามคธ เพื่อจะได้เป็นตันติภาษา (ภาษาที่มีแบบแผน) สอดคล้องกับคัมภีร์พระไตรปิฎก
และจะได้เป็นประโยชน์กว้างขวางต่อไป นับเป็นการสังคายนาครั้งที่ ๓ ในลังกาทวีป

สถานที่ : โลหปราสาท เมืองอนุราธปุระ ในลังกาทวีป

องค์อุปถัมภ์ : พระเจ้ามหานาม

การจัดการ :
พระพุทธโฆสเถระเป็นประธาน มีการแปลและเรียบเรียงคัมภีร์อรรถกถาจากภาษาสิงหล เป็นภาษามคธอักษรบาลี

ระยะเวลา : ๑ ปี จึงสำเร็จ


การสังคายนา ครั้งที่ ๗
ในพ.ศ.๑๕๘๗
มูลเหตุ :
ทางการคณะสงฆ์อันมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน และทางราชการบ้านเมืองอันมีพระเจ้าปรักกมพาหุเป็นประมุข
เห็นว่าคัมภีร์พระไตรปิฎก ซึ่งเรียกว่าปาลินั้น เป็นภาษามคธอักษรบาลี คัมภีร์อธิบายพระไตรปิฎกซึ่งเรียกว่าอรรถกถา ก็ได้แปลและเรียบเรียงเป็นภาษามคธ อันเป็นตันติภาษาสอดคล้องกับคัมภีร์พระไตรปิฎกแล้ว

ส่วนคัมภีร์อธิบายอรรถกถาซึ่งเรียกว่า ฎีกา และคัมภีร์อธิบายฎีกาซึ่งเรียกว่า อนุฎีกา
ยังมิได้แปลและเรียบเรียงเป็นภาษามคธ ยังเป็นภาษาสิงหลบ้าง เป็นภาษาสิงหลปะปนกับภาษามคธบ้าง
ควรจะได้แปลและเรียบเรียงเป็นภาษามคธให้หมดสิ้น จึงได้ดำเนินการแปล
และเรียบเรียงคัมภีร์ดังกล่าวเป็นภาษามคธ เป็นตันติภาษา (ภาษาที่มีแบบแผน)
เช่นเดียวกับคัมภีร์พระไตรปิฎกและคัมภีร์อรรถกถา นับเป็นการสังคายนาครั้งที่ ๔ ในลังกาทวีป

สถานที่ : ลังกาทวีป (เข้าใจว่าที่โลหปราสาท เมืองอนุราธปุระ)

องค์อุปถัมภ์ : พระเจ้าปรักกมพาหุ

การจัดการ : พระมหากัสสปเถระเป็นประธาน พร้อมด้วยการกสงฆ์ (กรรมการเฉพาะกิจสงฆ์) จำนวนกว่า ๑,๐๐๐ รูป

ระยะเวลา : ๑ ปี จึงสำเร็จ

กล่าวกันว่า หลังจากที่ได้มีการสังคายนาครั้งนี้แล้วไม่นาน พระเจ้าอนุรุทมหาราช
กษัตริย์กรุงอริมัททนปุระ (พุกาม) แห่งประเทศพม่า ได้เสด็จไปลังกาทวีป
และทรงจำลองคัมภีร์พระไตรปิฎก พร้อมทั้งคัมภีร์อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา
นำมาประดิษฐานไว้ศึกษาเล่าเรียนในประเทศพม่า ต่อแต่นั้นมา
บรรดาประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา เช่น ไทย เขมร
ก็ได้ส่งพระสงฆ์และราชบัณฑิตไปจำลองคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และอนุฎีกา
นำมาประดิษฐานไว้ศึกษาเล่าเรียนในประเทศของตนบ้าง


การสังคายนา ครั้งที่ ๘

ในพ.ศ.๒๐๒๐

มูลเหตุ :
พระธรรมทินมหาเถระผู้เปรื่องปราดแตกฉานในพระไตรปิฎก
ได้พิจารณาเห็นว่าคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และอนุฎีกา
ซึ่งมีอยู่ในเวลานั้นมีข้อวิปลาสคลาดเคลื่อนอยู่มาก
ด้วยการจำลองหรือคัดลอกกันต่อๆมาเป็นเวลาช้านาน
จึงเข้าเฝ้าถวายพระพรขอความอุปถัมภ์จากพระเจ้าติโลกราช
เมื่อได้รับการอุปถัมภ์แล้ว พระธรรมทินมหาเถระก็ได้เลือกพระสงฆ์ผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกประชุมกันทำสังคายนา
โดยการตรวจชำระพระไตรปิฎก พร้อมทั้งอรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา
จารึกไว้ในใบลาน ด้วยอักษรธรรมของล้านนา
นับเป็นการสังคายนาครั้งที่ ๑
ในอาณาจักรล้านนาหรือประเทศไทยในปัจจุบัน

สถานที่ : วัดโพธาราม ณ เมืองนพิสิกร คือ เมืองเชียงใหม่ ประเทศไทย

องค์อุปถัมภ์ : พระเจ้าติโลกราช หรือพระเจ้าศิริธรรมจักรวรรดิดิลกราช

การจัดการ : พระธรรมทินมหาเถระเป็นประธาน พร้อมด้วยการกสงฆ์

ระยะเวลา : ๑ ปี จึงสำเร็จ


การสังคายนา ครั้งที่ ๙

ในพ.ศ.๒๓๓๑

มูลเหตุ :
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พร้อมด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท
ทรงมีพระราชศรัทธาปรารถนาจะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคงสืบไป
ได้ทรงทราบจากพระสงฆ์อันมีสมเด็จพระสังฆราชฯเป็นประธานว่า
เวลานั้นพระไตรปิฎกมีข้อวิปลาสคลาดเคลื่อนมาก
แม้พระสงฆ์จะมีความประสงค์จะทำนุบำรุงให้สมบูรณ์ก็ไม่มีกำลังพอจะทำได้

พระองค์จึงได้ทรงอาราธนาสมเด็จพระสังฆราชพร้อมด้วยพระสงฆ์ทั้งปวงให้รับภาระในเรื่องนี้
ดังนั้น พระสงฆ์อันมีสมเด็จพระสังฆราชฯเป็นประธาน จึงได้เริ่มทำการสังคายนาพระธรรมวินัย
ตรวจชำระพระไตรปิฎกพร้อมทั้งคัมภีร์ลัททาวิเสส (คัมภีร์ไวยากรณ์บาลี)
และได้จารึกไว้ในใบลานด้วยอักษรขอม
ซึ่งนับเป็นการสังคายนาครั้งที่ ๒ ในประเทศไทย

สถานที่ : วัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งปัจจุบันคือวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

องค์อุปถัมภ์ : พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

การจัดการ :สมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน มีพระสงฆ์เข้าประชุมเป็นสังคีติการกสงฆ์จำนวน ๒๑๘ รูป
และมีราชบัณฑิตเป็นผู้ช่วยเหลือจำนวน ๓๒ คน

ระยะเวลา : ๕ เดือน จึงสำเร็จ


การสังคายนา ครั้งที่ ๑๐
ในพ.ศ.๒๔๓๑
มูลเหตุ :
ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชย์ได้ ๒๕ ปี
ทรงปรารภจะบำเพ็ญพระมหากุศล
ทรงเห็นว่าพระไตรปิฎกที่เขียนไว้ในใบลานไม่มั่นคง ทั้งจำนวนก็มากยากที่จะรักษา
และเป็นตัวขอม ผู้ไม่รู้อ่านไม่เข้าใจ จึงมีพระราชศรัทธาให้พิมพ์พระไตรปิฎกเป็นเล่มแบบฝรั่งขึ้นใหม่
โปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส และพระเถรานุเถระทั้งหลายช่วยกันชำระ

โดยคัดลอกตัวขอมในคัมภีร์ใบลาน เป็นตัวอักษรไทย แล้วชำระแก้ไขและพิมพ์เป็นเล่มหนังสือ รวม ๓๙ เล่ม
เริ่มชำระและพิมพ์ตั้งแต่พ.ศ.๒๔๓๑ สำเร็จเมื่อพ.ศ.๒๔๓๖ จำนวน ๑,๐๐๐ ชุด
นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นเล่มด้วยอักษรไทย
นับเป็นการสังคายนาครั้งที่ ๓ ที่ทำในประเทศไทย

สถานที่ : พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

องค์อุปถัมภ์ : พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

การจัดการ :
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ครั้งดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส
และสมเด็จพระสังฆราช (สาปุสฺสกาว) ครั้งยังเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เป็นประธาน
มีพระสงฆ์เข้าประชุมเป็นสังคีติการกสงฆ์ จำนวน ๑๑๐ รูป

ระยะเวลา : ๖ ปี จึงสำเร็จ


การสังคายนา ครั้งที่ ๑๑

ในพ.ศ.๒๕๓๐
มูลเหตุ :
ในปีพ.ศ.๒๕๓๐ เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบปีนักษัตร
สมเด็จพระสังฆราชทรงดำริเห็นว่าพระไตรปิฎกอันเป็นคัมภีร์สำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนานั้น
มีข้อวิปลาสคลาดเคลื่อนอยู่ อันเกิดจากความประมาทพลาดพลั้งในการคัดลอกและตีพิมพ์กันต่อๆมา
เห็นควรทำการสังคายนาพระธรรมวินัยตรวจสอบชำระให้บริสุทธิ์บริบูรณ์
และตีพิมพ์ขึ้นเป็นที่เฉลิมพระเกียรติยศในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ปีพ.ศ.๒๕๓๐
จึงได้เจริญพรขอความอุปถัมภ์ไปยังรัฐบาลและถวายพระพรให้การสังคายนาครั้งนี้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์
เมื่อได้รับงบประมาณและพระบรมราชูปถัมภ์แล้ว จึงได้ดำเนินการสังคายนา
เริ่มแต่ปีพ.ศ.๒๕๓๘ และเสร็จสิ้นลงเมื่อปีพ.ศ.๒๕๓๐
นับเป็นการสังคายนาครั้งที่ ๔ ที่ทำในประเทศไทย
สถานที่ : พระตำหนักสมเด็จวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

องค์อุปถัมภ์ : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นองค์อุปถัมภ์
พร้อมด้วยรัฐบาล อันมีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

การจัดการ : สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก (วาสนมหาเถระ) เป็นประธาน

ระยะเวลา : ๒ ปี จึงสำเร็จ


การสังคายนาพระไตรปิฎกในประเทศไทย

ที่กล่าวมาแล้วเกี่ยวกับการสังคายนาพระธรรมวินัยนั้น เป็นการสังคายนาครั้งสำคัญๆในพระพุทธศาสนา
ซึ่งกระทำกันในประเทศที่พระพุทธศาสนาหยั่งรากมั่นคง คือ ประเทศอินเดีย ศรีลังกา และไทย
แท้ที่จริงนั้น การสังคายนาชำระพระไตรปิฎก
การจารึกและการพิมพ์พระไตรปิฎกในประเทศไทยได้กระทำกันหลายครั้งหลายหน
ในหลายรัชกาล ต่อเนื่องกันตามวาระอันเป็นมงคลอย่างไม่ขาดตอน
ซึ่งเรียงลำดับให้เห็นได้ดังต่อไปนี้

ครั้งที่ ๑ : เมื่อพ.ศ.๒๐๒๐ ในสมัยพระเจ้าติโลกราช แห่งอาณาจักรล้านนาไทย
ซึ่งนับเป็นการสังคายนาครั้งที่ ๘ ในพระพุทธศาสนาที่กล่าวมาแล้ว ในครั้งนั้น เมื่อทำการฉลองสมโภชแล้ว
ก็โปรดให้สร้างมณเฑียรในวัดโพธาราม เพื่อประดิษฐานพระไตรปิฎก

ครั้งที่ ๒ : เมื่อพ.ศ.๒๓๓๑ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ซึ่งนับเป็นการสังคายนาครั้งที่ ๙ ในพระพุทธศาสนาที่ได้กล่าวมาแล้ว
ในครั้งนั้นเมื่อทำเสร็จแล้วโปรดให้ปิดทองแท่งทับทั้งปกหน้าหลังและกรอบทั้งสิ้น
เรียกว่า พระไตรปิฎกฉบับทอง
ครั้งที่ ๓ : เมื่อพ.ศ.๒๔๓๑ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสที่พระองค์ท่านเสวยสิริราชสมบัติครบ ๒๕ ปี นับเป็นการสังคายนาครั้งที่ ๑๐
ในพระพุทธศาสนา ซึ่งได้กล่าวในตอนต้นแล้ว

ครั้งที่ ๔ : เมื่อพ.ศ.๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
โปรดเกล้าฯให้ชำระและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ เพราะพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ขึ้นในรัชกาลที่ ๕ นั้น
ชุดหนึ่งมีเพียง ๓๙ เล่มเท่านั้น มีบางคัมภีร์ที่ยังไม่ได้พิมพ์ และบางคัมภีร์พิมพ์แล้วแต่ยังไม่สมบูรณ์
ในการจัดพิมพ์ครั้งนี้โปรดเกล้าฯให้กราบทูลอาราธนา
พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
ทรงเป็นประธานในการตรวจสอบทานชำระต้นฉบับที่ขาดหายไปเพิ่มอีก
จากที่มีอยู่ ๓๙ เล่ม ให้ครบ ๔๕ เล่ม การจัดพิมพ์พระไตรปิฎกครั้งนี้

นับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับอักษรไทยจนจบบริบูรณ์
และได้ขนานนามพระไตรปิฎกชุดนี้ว่า พระไตรปิฎกสยามรัฐ มีตราช้างเป็นเครื่องหมาย
พิมพ์จำนวน ๑,๕๐๐ ชุด จัดทำตั้งแต่พ.ศ.๒๔๖๘ ถึงพ.ศ.๒๔๗๓ จึงสำเร็จ

เมื่อจัดพิมพ์เสร็จแล้ว ได้พระราชทานในพระราชอาณาจักร ๒๐๐ ชุด
พระราชทานนานาประเทศ ๔๕๐ ชุด
เหลืออีก ๘๕๐ ชุด พระราชทานแก่ผู้บริจาคทรัพย์ขอรับหนังสือพระไตรปิฎก

ครั้งที่ ๕ : เมื่อพ.ศ.๒๔๘๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ต่อกัน
ได้มีการตรวจชำระและแปลพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยขึ้นเป็นฉบับภาษาไทยที่สมบูรณ์เป็นครั้งแรก
เพราะพระไตรปิฎกฉบับก่อนที่ได้ทรงโปรดให้จัดสร้างขึ้นในรัชกาลก่อนๆนั้น เป็นภาษาขอมบ้าง
เป็นภาษาบาลีอักษรไทยบ้าง
ทั้งนี้ก็โดยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวเถร) วัดสุทัศนเทพวราราม
ได้ทรงปรารภว่า ประเทศไทยเราควรจะมีพระไตรปิฎกที่แปลเป็นภาษาไทยจนครบถ้วนบริบูรณ์สมกับเมืองพระพุทธศาสนา

กระทรวงธรรมการ (ปัจจุบันคือกระทรวงศึกษาธิการ) และรัฐบาลในสมัยนั้นเห็นชอบด้วย
จึงนำความกราบบังคมทูล และได้โปรดให้งานนี้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ และถวายให้สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธาน
โดยมอบให้กรมธรรมการ
(ปัจจุบันคือกรมการศาสนา) เป็นผู้อำนวยการฝ่ายคฤหัสถ์ จัดพิมพ์พระไตรปิฎกเพื่อเผยแผ่ต่อไป

เริ่มดำเนินงานตั้งแต่พ.ศ.๒๔๘๓ ถึงพ.ศ.๒๕๐๐ และได้ขนานนามว่า พระไตรปิฎกภาษาไทย
จัดพิมพ์จำนวน ๒,๕๐๐ ชุด ชุดละ ๘๐ เล่ม จุดมุ่งหมายก็เพื่อให้เป็นอนุสรณ์เนื่องในงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ

ครั้งที่ ๖ : เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๔ เนื่องในงานอันเป็นมงคลสมัยสำคัญ
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชผู้ทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก
พระไตรปิฎกภาษาไทยมาแต่งานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษนั้น
ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติมาบรรจบครบ ๒๕ ปี ในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๔ พอดี
ทางราชการได้จัดพระราชพิธีรัชดาภิเษกถวายเป็นการเฉลิมพระเกียรติ
คณะกรรมการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกเห็นสมควรทูลเกล้าฯ
ถวายการพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยครั้งนี้ในปีรัชดาภิเษกนี้ด้วย
จึงตกลงเรียกพระไตรปิฎกฉบับนี้ใหม่ว่า พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง
พิมพ์ในปีฉลองรัชดาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พุทธศักราช ๒๕๑๔

โดยจัดพิมพ์ขึ้นจำนวน ๒,๐๐๐ ชุด ชุดละ ๔๕ เล่ม เท่ากับจำนวนฉบับภาษาบาลีที่มีปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้

ครั้งที่ ๗ : ต่อมา กรมการศาสนาได้ทำโครงการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง
เสนอกรรมการมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๐ และกรรมการมหาเถรสมาคม
ได้พิจารณาเห็นชอบและมีมติให้ดำเนินการได้
กรมการศาสนาได้เริ่มดำเนินการจัดพิมพ์ตั้งแต่พ.ศ.๒๕๒๑ เสร็จสมบูรณ์ต้นปีพ.ศ.๒๕๒๒
และได้จัดพิมพ์จำนวน ๒,๐๐๐ ชุด ชุดละ ๔๕ เล่ม
และเรียกชื่อว่า พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง เหมือนเดิม

ครั้งที่ ๘ : โดยที่กรุงรัตนโกสินทร์ได้ดำรงมั่นคงมาครบ ๒๐๐ ปี ในปีพ.ศ.๒๕๒๕ ทางคณะสงฆ์เห็นว่า พระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์สำคัญยิ่งของพระพุทธศาสนา และได้เป็นมรดกตกทอดมาถึงบัดนี้
ก็โดยอาศัยพระบรมราชูปถัมภ์แห่งพระบรมมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ตลอดมา
กรมการศาสนาจึงได้นำเรื่องเสนอกรรมการมหาเถรสมาคม
เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๔ ที่ประชุมกรรมการมหาเถรสมาคมลงมติเห็นชอบในหลักการให้ดำเนินการจัดพิมพ์ได้
ในการพิมพ์ครั้งนี้ได้จัดพิมพ์จำนวน ๓,๐๐๐ ชุด ชุดละ ๔๕ เล่ม

ครั้งที่ ๙ : เมื่อพ.ศ.๒๕๓๐ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในมหามงคลวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ
ซึ่งนับเป็นการสังคายนาครั้งที่ ๑๑ ในพระพุทธศาสนาที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง
ขึ้นไปข้างบน
Permissions in this forum:
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ